กรมอนามัย แนะ เริ่มต้นป้องกัน “โรคมะเร็ง” ด้วยตนเอง เพียงปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และตรวจคัดกรอง
ข่าวสุขภาพ
โรคมะเร็ง เป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งมาจาก “พฤติกรรมการใช้ชีวิต” ที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น การเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง เป็นอีกหนึ่งวิธีการป้องกันโรคมะเร็งต้วยตนเองที่ดี
ปรับพฤติกรรม ลดความเสี่ยง โรคมะเร็ง
- เลี่ยงการสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์: เสี่ยงเกิดโรคมะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งช่องปาก
- เลี่ยงอาหารรสจัด อาหารหมักดอง: เสี่ยงเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร
- เลี่ยงอาหารประเภทเนื้อสัตว์รมควัน ปิ้ง ย่าง ทอดจนไหม้เกรียม: เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ
- เลี่ยงอาหารที่ใส่ดินประสิว หรือสารกันเสีย (เช่น เนื้อสัตว์แปรรูป อาทิ ไส้กรอก เบคอน แฮม กุนเชียง แหนม): เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งที่อวัยวะต่าง ๆ เช่น กระเพาะอาหารและลำไส้
- เลี่ยงอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะปลาน้ำจืด: เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี เพราะอาจปนเปื้อนพยาธิใบไม้หรือสารพิษจากแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด
- เลี่ยงการรับมลพิษ ฝุ่นควัน สารพิษ สารเคมี (เช่น บริเวณที่มีการเผาไหม้จากท่อไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ การเผาขยะ เผาหญ้า เผาเชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงงาน รวมถึงช่วงเวลาที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอากาศสูง) เลี่ยงการได้รับแสงแดดจัดหรือแสงแดดโดยตรง โดยไม่ได้รับการป้องกันนานเกินไป: เสี่ยงมะเร็งผิวหนัง เนื่องจากความร้อนสูงและรังสียูวีเป็นอันตรายต่อเซลล์ ควรป้องกันโดยเลี่ยงการตากแดดในเวลาแดดจัดนาน ทาครีมกันแดด สวมใส่เสื้อผ้า หรืออุปกรณ์กันแดดที่เหมาะสม
ตรวจสุขภาพ/คัดกรองมะเร็ง ช่วยป้องกัน-รักษามะเร็งได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
เราสามารถดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งด้วยตนเองได้ ด้วยการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และผู้ที่มีอายุ 35 ปี ขึ้นไป หรือผู้ที่มีความเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็ง ได้แก่:
- มะเร็งเต้านม: แนะนำให้ผู้หญิงตรวจคัดกรองโดยคลำเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ และการทำแมมโมแกรม (Mammogram)
- มะเร็งปอด: แนะนำให้ประชาชนทั่วไป ผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี ที่สูบบุหรี่วันละประมาณ 1 ซอง มาเป็นระยะเวลาประมาณ 30 ปี หรือหยุดสูบบุหรี่ไม่เกิน 15 ปี คัดกรองโดยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดรังสีปริมาณต่ำ
- มะเร็งลำไส้ใหญ่: แนะนำให้ประชาชนทั่วไป ผู้มีอายุตั้งแต่ 45 – 50 ปี คัดกรองโดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ หรือการตรวจเลือดคัดกรองมะเร็ง เป็นต้น
- มะเร็งต่อมลูกหมาก: แนะนำให้ผู้ชายอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป คัดกรองโดยการตรวจเลือด ดูค่ามะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA)
- มะเร็งตับ: แนะนำให้ประชาชนทั่วไป ผู้ที่มีภาวะตับอักเสบหรือคนที่มีเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบ บี ตรวจคัดกรองโดยการอัลตราซาวด์ท้องช่วงบน และการตรวจค่ามะเร็งตับ (AFP)
- มะเร็งช่องปาก: แนะนำให้ประชาชนทั่วไป ตรวจสุขภาพฟันและช่องปากอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อดูแลเหงือก ฟัน และความผิดปกติในช่องปาก หรือสังเกตรอยโรคด้วยตนเอง เป็นต้น
เริ่มต้นป้องกัน “โรคมะเร็ง” ด้วยตนเอง
มะเร็ง เป็นอีกหนึ่งภัยเงียบที่เราต้องให้ความสำคัญ โดยเริ่มต้นจากการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ลดหรือเลี่ยงความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง ตลอดจนตรวจสุขภาพ และตรวจคัดกรองมะเร็งเป็นประจำ เพื่อวางแผนการดูแลสุขภาพ และทำการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมและทันท่วงที ที่สำคัญ เราควรดูแลสุขภาพโดยง่าย ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ ถูกสุขลักษณะ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดหรือเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียด และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
อ้างอิง: กรมอนามัย (ข้อมูล ณ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566)